วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บทวิเคราะห์ พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง



พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล วัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง
   
           พระกรุขุนอินทประมูล ได้เริ่มแตกกรุออกมาในยุคแรกๆ นับเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี มาแล้ว ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๐ - ๒๕๕๑ หลาย ๆ ท่าน อาจจะเกิดความงงและสงสัยว่าเอ๊ะ....ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลย ซึ่งมันก็มิใช่เรื่องแปลกที่ท่านและคนอื่น ๆ อีกกว่า ๖๐ ล้านคนจะไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวใด ๆ เลย เพราะพระกรุขุนอินทประมูลที่ได้แตกกรุออกมานั้นเกิดจากการแอบขุดของคนบางกลุ่ม โดยการขุดตรงบริเวณด้านหลังกึ่งกลางองค์หลวงพ่อพระใหญ่ ซึ่งเป็นพระนอนที่มีความยาว ๒๕ วา ของวัดขุนอินทประมูล โดยหัวหน้าขบวนการ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานบริเวณแห่งนั้นร่วมกับลูกน้องอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีทั้งหมดไม่เกิน ๑๐ คน อันเป็นกลุ่มปฏิบัติการที่รู้เรื่องราวมาโดยตลอด การกระทำโดยการแอบขุดของคนจำนวนไม่ถึง ๑๐ คนนั้น กระทำการโดยการปกปิดมาโดยตลอดกว่า ๒๐ปีมานี้จะเป็นที่ทราบโดยทั่วถึงกันกับคนอีกกว่า ๖๐ ล้านคน มันคงเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่จะเห็นและรู้ได้เพราะการแตกกรุของวัดขุนอินทประมูล ไม่เหมือนกับวัดอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งประโคมเป็นข่าวใหญ่โตรู้กันไปทั่วบ้านทั่วเมืองเหตุที่ข้าพเจ้านำข้อมูลมาเปิดเผย ก็เพื่อให้คนอีกกว่า ๖๐ ล้านคนได้ทราบ ได้พิจารณาตามเหตุและผลเพื่อให้ประวัติศาสตร์ของชาติที่ถูกบันทึกไว้ก่อนแล้วนั้น จากส่วนที่เป็นนามธรรมให้สมบูรณ์เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้น
             ข้าพเจ้าก็คืออีกคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้เรื่องราวเช่นนี้มาก่อนเลยเช่นกันปฐมเหตุได้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีท่านอาจารย์ รูปหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือเมตตากรุณาให้พระข้าพเจ้ามา ๒ องค์ เป็นพระพิมพ์สมเด็จ ท่านบอกข้าพเจ้าแต่เพียงสั้น ๆ ว่าเป็นพระกรุวัดขุนอินทประมูลความสงสัยใคร่ที่อยากจะรู้ความจริง ก็เกิดจากเหตุที่ได้พระสมเด็จมา ๒ องค์นี้เอง ด้วยอยากรู้ว่าเท็จจริงประการใด จึงได้เกิดการนำสืบ ค้นคว้า พิสูจน์ ทั้งด้านพยานบุคคล พยานวัตถุ หลักฐานเอกสารต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ เพื่อนำ มาประมวลหาเหตุและผลในการพิสูจน์หาความจริง ซึ่งได้กระทำการค้นคว้าพิสูจน์มาได้ ๗-๘ ปี แล้ว จนมั่นใจได้แล้วว่าทุกอย่างที่ได้รับรู้มาเป็นเรื่องจริง และก็ต้องกราบขออภัย ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของเหล่าขบวนการแอบขุดเหล่านี้ได้ เพราะไม่เป็นผลดีต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของคนเหล่านั้น


ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อนนั้น วัดขุนอินทประมูล ยังไม่ค่อยมีคนนิยมมาท่องเที่ยว มากราบไหว้พระมากมายเหมือนเช่นปัจจุบันนี้สมัยก่อน พื้นที่บด้านจะถูกล้อมรอบไปด้วยท้องนา รกไปด้วยป่าด้วยหญ้าไม่ค่อยมีคนพลุกพล่าน ส่วนการขุดที่ข้าพเจ้าสืบทราบมานั้น จะทำการขุดในยามวิกาลหรือเวลากลางคืน พอกลางวันก็จะใช้ไม้อัดและสังกะสี ปิดปากหลุมที่ขุดโดยใช้ดินกลบทับไว้อีกทีเพื่อป้องกันไม่ให้คนสังเกตเห็น ทำการขุดเช่นนี้ตลอดเวลาที่ล่วงมากว่า ๒๐ ปี การขุดจะขุดในตำแหน่งบริเวณด้านหลังตรงกึ่งกลางองค์พระนอน ห่างจากองค์พระนอนออกมา ๑ เมตร หลุมกว้าง ๑ เมตรและขุดลึกลงไป ๑.๕๐ เมตร โดยขุดเจาะเป็นโพรงหรืออุโมงค์ตลอดตามแนวความยาวขององค์พระนอนทั้งด้านหน้าและด้านหลังตลอดรอบองค์พระจนเวลาล่วงมาถึง ตุลาคม ๒๕๔๑ ดินชั้นบนที่เป็นฐานรองรับน้ำหนักองค์หลวงพ่อเกิดทรุดตัวเหตุเพราะดินชั้นล่างถูกขุดทำลาย ทำให้ส่วนที่เป็นปูนที่ฉาบก่อด้านหลังองค์หลวงพ่อ พังครูดทลายลงมาตลอดทั้งแนวทำให้องค์หลวงพ่อใหญ่ อันเป็นพระนอนศิลป์สุโขทัยยาว ๒๕ วาหรือ ๕๐ เมตร ที่สวยงาม สง่างามและยาวที่สุดของประเทศไทยต้องพังทลายลงคงเหลือเพียงในส่วนของด้านหน้า ส่วนของพระเศียรและพระบาทขององค์พระเท่านั้นที่ไม่พัง

                           เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เกิดขึ้นในเวลา ๑๐.๓๐ น.ก่อนเพลของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ เกิดเสียงลั่นดังสนั่นปานฟ้าผ่า ตรงบริเวณ องค์หลวงพ่อใหญ่ เกิดเสียงลั่นดังสนั่นดังนี้ถึง ๒ ครา ครั้งแรกเกิดตอนกลางวัน เวลา ๑๐.๓๐ น. ครั้งที่สอง เกิดตอนกลางคืนเวลาประมาณ ๓- ๔ ทุ่ม ซึ่งขณะนั้นวัดมีการจัดงานมีมหรสพ พอสิ้นเสียงลั่นดัง ครั้งที่สอง องค์หลวงพ่อใหญ่ก็ทรุดลงเป็นกองอิฐกองปูน จุดประสงค์ของกลุ่มที่ขโมยขุดไม่ได้มุ่งหวังขุดหาพระสมเด็จแต่อย่างใดแต่ หวังของที่มี มูลค่าสูง เช่น พระพุทธรูปบูชาแก้วแหวนเงินทองอัญมณีมีค่าต่าง ๆ ได้พระพุทธรูปทองคำ ก็นำไปหลอมเป็นทองแท่งแล้วนำไปขายที่ร้านทอง เพื่อทำลายหลักฐานอันนำมาซึ่งความผิด อันอาจจะถึงตนเองได้

                แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็หาได้หนีพ้นวิบากกรรมที่ตนได้ก่อขึ้นแล้วนั้นได้หัวหน้าขบวนการที่เคยรุ่งเรืองทั้งตำแหน่งและฐานะในขณะนั้น ต้องมีอันระเห็จระเหเร่ร่อนไปทั่ว หาที่พำนักเป็นหลักแหล่งอันแน่นอนไม่ได้ ทรัพย์สินที่เคยมีสถานะที่เคยดำรงอยู่ก็เสื่อมมลายสลายไปสิ้น ทุกข์กาย ทุกข์ใจหาทางออกไม่พบ หมดทางต้องหันไปพึ่งพายาบ้า ยาเสพติด เพื่อหวังให้ช่วยคลายทุกข์ในยามมืดมนหมดหนทาง ส่วนคนที่ลงมือขุดบางคน ประสพอุบัติเหตุถึงขั้นสาหัสเกือบแทบจะเอาชีวิตไม่รอด เหตุมอเตอร์ไซค์ที่ขี่ไปล้ม ถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่เหยียบซ้ำ จนมอเตอร์ไซค์และหมวกกันน็อคที่ใส่หลุดออกจากศีรษะบี้แบนพังยับเยินล้วนเป็นฝันร้ายของชีวิต ที่ชะตากรรมต้องประสพอันเกิดจากกรรมได้ลิขิตไว้ทั้งสิ้น

              แต่ถ้ามองหาส่วนที่ดีในสิ่งที่ไม่ดีนั้น ย่อมมีอยู่เสมอ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นแค่เพียงเศษขยะหรือแม้แต่จากมหาโจรร้ายเพราะอย่างน้อยประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กับพระสมเด็จชุดนี้ก็ได้ถูกเปิดเผยขึ้นโดยน้ำมือของคนกลุ่มนี้ นับว่าในมุมแห่งความมืดก็ยังมี ความสว่างที่ส่องให้เห็นความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์ของชาติอย่างเอนกอนันต์

            กาลเวลาล่วงเลยมากว่า ๑๐ ปี นับจากปี ๒๕๓๐-๒๕๔๑ ความก็มาแตกเมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏว่า ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ พระนอนที่ใหญ่และสวยงามที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย ต้องพังทลายลงทั้งองค์จากน้ำมือของมนุษย์บางกลุ่มที่ทำการแอบขโมยขุด

             ดังเอกสารสำนวนการสอบสวน ที่ลงประกาศไว้ทาง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หมายเลขข่าวที่ ๑๑-๐๑๒-p๑๙ วันที่ ๒๒-๑๑-๒๕๔๑ หน้า ๑๙-๕ ดาว ประเภทการศึกษา ของอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นความว่า


" ยกเลิกสร้างวิหาร นายนิคม มูสิกะคามะ อธิบดีกรมศิลปากร ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย. ส่งไปถึงเจ้าอาวาสวัดขุนอินทประมูล หมู่ ๓ ตำบลขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ให้ยกเลิกรูปแบบรายการสร้างวิหารคลุมพระนอนขุนอินทประมูลที่ดำเนินการมานาน และยกเลิกกรรมการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ๓ คน ที่มาควบคุมดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากพบว่าองค์พระนอนชำรุดมาก มีผู้ลักลอบขุดทำลายจนเกรงเกิดอันตราย นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า กรรมการจากกรมศิลปากรมีส่วนร่วมกับกลุ่มบุคคลขุดทำลายองค์พระ จนพังทลายลงมาแล้วมีการเบิกเงินเพิ่มขึ้น ทางอธิบดีกรมศิลปากร จึงสั่งยกเลิกการควบคุมก่อสร้าง และให้หยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราวก่อน จนกว่าจะหาวิธีที่จะบูรณะองค์พระนอนให้มั่นคง ก่อนจะออกแบบสร้างหลังคาคลุมองค์พระนอนต่อไป "


                           พระผงสีขาวที่มีมวลสารตามทฤษฎีของพระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆษิตาราม เป็นพระรูปทรงสี่เหลี่ยมและมีขนาดเท่า ๆ กับ พระสมเด็จ วัดระฆังโฆษิตาราม พุทธศิลป์ใกล้เคียงกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามมาก แต่ก็มีพุทธพิมพ์ในรายละเอียดที่แตกต่าง กันบ้างอันเป็นเอกลักษณ์แม่พิมพ์ของ พระสมเด็จ กรุขุนอินทประมูลโดยเฉพาะ







พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูลนั้น ท่านผู้รู้ในจังหวัดอ่างทอง ได้ขนานพระนาม เป็นพระพิมพ์ต่าง ๆ ว่า

๑. พระพิมพ์พระประธาน
๒. พระพิมพ์ใหญ่
๓. พระพิมพ์ทรงเจดีย์
๔. พระสมเด็จองค์เล็ก หรือ พิมพ์คะแนน



พระพิมพ์พระประธาน


เอกลักษณ์ของพระพิมพ์ประธานนั้น เป็นพระพิมพ์ 3 ชั้น มีเส้นแซมใต้ตักที่มีขนาดค่อนข้างหนาอย่างเห็นได้ชัด ซุ้มเรือนแก้ว เป็นซุ้มผ่าหวายที่เส้นใหญ่และคมลึกมาก องค์พระประธานจะมีพุทธศิลป์ที่ล่ำสัน สง่างามมาก มีความลึกมากกว่าพิมพ์อื่นเล็กน้อย เศียรขององค์พระเป็นรูปกลมรีในพุทธลักษณะของศิลปะสุโขทัย คือมีคางเล็กลงและเชื่อมลงมายังต้นคอขององค์พระซึ่งเห็นอยู่ในทีเท่านั้น มิได้เป็นรูปแท่งของลำคอเหมือนพระรุ่นใหม่ทั่วไป พุทธศิลป์ที่แตกต่างกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามพิมพ์ใหญ่คือ ไม่ปรากฏมีหูอยู่รำไร พระพักตร์ไม่ปรากฏมีหน้าตาชัด พระเกศเป็นกรวยยาวแหลมขึ้นไปจรดครอบแก้ว



พระพุทธศิลป์ที่คล้ายคลึงกับ พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามก็คือ ที่รักแร้ขององค์พระประธานด้านซ้ายมือจะลึกสูงกว่าซอกรักแร้ด้านขวามือขององค์พระประธาน หน้าตักซ้ายขององค์พระประธาน จะสูงขึ้นกว่าหน้าตักทางขวามือขององค์พระประธาน เป็นเหตุให้พุทธลักษณะขององค์พระประธาน จะนั่งเอียงจากฐานเล็กน้อย ซึ่งเหมือนกับพุทธศิลป์ของ พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามพิมพ์ใหญ่

ฐานทั้ง 3 ชั้นจะใหญ่และลึก มีฐานสิงห์ปรากฏที่ ฐานชั้นสอง ทั้ง 2 ข้าง พุทธศิลป์พิมพ์หลังเป็นพิมพ์หลังเรียบ ทั้ง 3 พิมพ์เหมือนกัน การตัดพิมพ์ขององค์พระนั้น เมื่อปั๊มแม่พิมพ์แล้วน่าจะตัดด้วยตอกจากด้านหลังขององค์พระ เสร็จแล้วจึงถอดองค์พระออกจากแม่พิมพ์ เหมือนพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม จึงไม่ปรากฏมีเนื้อปลิ้นบนขอบตัดด้านหน้าซึ่งจะแตกต่างจากพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ซึ่งตัดจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง จึงปรากฏขอบตัดที่ปลิ้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การตัดแม่พิมพ์นั้น ถึงจะเป็นการตัดแม่พิมพ์จากด้านหลังมาสู่ด้านหน้า แต่ก็ใช้กรรมวิธีตัดขอบที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ปรากฏรอยปูไต่บนพิมพ์ด้านหลังทั้ง 4 ขอบ จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจจะใช้ตอกตัดตรงทั้ง 4 ด้านทุกองค์

มวลสารขององค์พระนั้น มีเอกลักษณ์ของสมเด็จวัดระฆังค่อนข้างจะครบสูตร คือ มีรอยพรุนบนองค์พระทั่วๆไป จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีส่วนผสมของผงธูปที่บูชาพระ เมื่อพระได้อายุนานปีผงธูปได้หดตัว และเสื่อมหายไป จึงเกิดรอยรูพรุนหรือรอยเข็มทั่วไป

รอยบุ้งไต่หรือรอยหนอนด้นซึ่งเกิดจากมวลสารที่เป็นดอกไม้ พืชผักหรือเนื้อสัตว์ที่เป็นเศษอาหาร เมื่อสลายตัวแล้วจึงปรากฏร่องรอยที่เหลืออยู่ เป็นรอยคล้ายบุ้งไต่หรือหนอนด้น คล้ายกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม

เม็ดพระธาตุ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม คือเป็นมวลสาร ที่ผสมด้วยเศษปูนเก่าที่ตำละเอียดผสมอยู่ในมวลสารของการสร้างพระ เมื่อพระสมเด็จมีอายุเป็นร้อยปี เศษปูนเก่าและส่วนผสมของปูนใหม่ มีการหดตัวและมีรอยแยกกันเป็นธรรมชาติสำหรับไม้ก้านธูปหรือเศษมวลสารอื่นๆซึ่งมีในพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามนั้น ยังไม่พบอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้





พระพิมพ์ใหญ่


ซุ้มครอบแก้วจะเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด พุทธลักษณะของพระประธาน จะไม่ล่ำสันเหมือนพิมพ์พระประธานแต่พุทธศิลป์ ยังคงรักษาเอกลักษณ์เหมือนหรือคล้ายกับ พิมพ์พระประธาน เส้นแซมใต้ตักจะมีขนาดเล็กลงบ้างเท่านั้น













พระพิมพ์ทรงเจดีย์

พุทธศิลป์ดูจะล่ำสันกว่าพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่เสียอีก แต่ก็ไม่เท่ากับพระสมเด็จพิมพ์พระประธาน เส้นแซมใต้ตักเป็นเส้นเล็กและแหลมคม นอกนั้นพุทธศิลป์จะเหมือนและคล้ายกับพระสมเด็จทั้งของพิมพ์พระประธานและพิมพ์ใหญ่







พระพิมพ์คะแนน

 
เป็นพระสมเด็จที่มีขนาดองค์เล็ก ในลักษณะเป็นพิมพ์คะแนน แต่เนื่องจากพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และพระสมเด็จวัดเกศไชโย ไม่มีพระสมเด็จ องค์เล็ก พระสมเด็จวัดขุนอินทประมูล มีพระสมเด็จองค์เล็กอยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก จึงเป็นข้อแตกต่างไปจากพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม แต่อย่างไรก็ตามพระสมเด็จวัดขุนอินทประมูลพิมพ์องค์เล็กนั้น จะมีเอกลักษณ์เหมือน สมเด็จอรหังพิมพ์เล็กมีพุทธศิลป์เป็นพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ เป็นมวลสารเหมือนพระพิมพ์ใหญ่ทุกประการ มีคราบปูนขาวจับบางๆ และส่วนใหญ่จะมีน้ำยางไม้สีน้ำตาลอ่อนเคลือบผิวอีกชั้นหนึ่งพุทธศิลป์ของพระสมเด็จวัดขุนอินทประมูลพิมพ์องค์เล็กนั้น จะเป็นศิลปะนูนต่ำตามศิลปะ ของพระพิมพ์ในสมัยร้อยปีมานี้ดังเช่นพระสมเด็จอรหังเล็ก หรือศิลปะของเหรียญเกจิอาจารย์ทั้งหลายในยุคปี พ.ศ.๒๔๖๐ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นต้นเช่น เหรียญหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง เหรียญหลวงปู่ศุข เหรียญหลวงพ่อกลั่น เป็นต้น ศิลปะของเหรียญจะเป็นศิลปะนูนต่ำไม่เหมือนปัจจุบัน พระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะนูนสูง









แนวทางการดูพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล


            พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล เป็นพระเนื้อผงที่บรรจุในใต้ฐานพระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูลและน่าจะบรรจุอยู่ในที่สูงปราศจากน้ำท่วมใด ๆ ด้วยอายุขององค์พระที่บรรจุไว้นานเป็นร้อยปี กลางวันจะร้อนด้วยไอแดด และกลางคืนจะเย็นด้วยอากาศในตอนกลางคืน จึงก่อเกิดคราบปูนในอากาศที่ตกตะกอนจับลงบน องค์พระเครื่องที่เป็นพระผง จนกระทั่งมีคราบปูนสีขาวนวลและจับแน่นเหมือนหินปูนโดยทั่วทั้งองค์พระ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังตัวอย่างเช่น พระหลวงปู่ภูพิมพ์ ๗ ชั้น ของวัดอินทร์ ฯ ที่ไปบรรจุไว้ในกรุ ที่จังหวัดพิษณุโลกนั้น จะมีผิวคราบปูนจับอยู่บาง ๆ เป็นต้น แต่คราบปูนที่จับอยู่บน พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล มีความหนากว่ามาก แสดงว่าพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ได้บรรจุในกรุมีอายุนานกว่าพระหลวงปู่ภูพิมพ์ ๗ ชั้นที่เปิดกรุได้ที่จังหวัดพิษณุโลก และอาจจะนานกว่าสองเท่า คราบปูนที่จับอยู่บนผิวขององค์พระตามธรรมชาตินั้น นอกจากจะมี ผิวธรรมชาติที่คล้ายคลึงกันแล้วผิวปูนตามธรรมชาติจะจับแน่นไม่สามารถหลุดโดยง่ายต้องใช้ ของแข็งขุดจึงจะสามารถเข้าถึงเนื้อได้ นอกจากผิวจะแข็งแกร่งแล้วยังมีสีด้านเหมือนหินปูนธรรมชาติ เหมือนหินปูนในถ้ำ ถ้าเป็นหินปูนที่สร้างเทียมขึ้นจะต้องเป็นลักษณะปูนขาวผสมกาวที่แข็งและจับแน่น แต่ก็จะต้องปรากฏความมันของกาวที่สร้างจากเคมีสังเคราะห์ขึ้นครับ


 
               เมื่อเรารู้จักพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูลแล้ว ตอนนี้มาทำความรู้จักกับ " วัดขุนอินทประมูล " กันก่อน ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพื่อสืบค้นที่มาที่ไปของพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูลนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ 
 
 
วัดขุนอินทประมูล


วัดขุนอินทประมูล เป็นพระอารามราษฎร์   ชั้นสามัญ ตั้งอยู่ หมู่ ๓ ตำบลบางพลับ อำเภอ โพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ประกาศขึ้นทะเบียนวัดในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๐ เนื้อที่วิสุงคามสีมา ๘๐ ไร่เศษ

ประวัติเดิมวัดเป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ใช้เป็นที่วิปัสสนา สร้างเป็นเพิงพักเครื่องไม้ไผ่หลังคามุงแฝกฝีมือชาวบ้านบริเวณเดิมเป็นโคกสูงน้ำท่วมไม่ถึง สมัยโบราณเป็นแหล่งที่ชาวบ้านนำวัวควายมาปลูกเพิงอาศัยดูแลในฤดูน้ำท่วมเดือน ๑๑-๑๒ ของทุกปีเมื่อน้ำลดก็นำวัวควายกลับ ที่พำนักยังถิ่นที่อยู่เดิม เป็นดังนี้มาตลอด

สมัยโบราณทวาราวดี บริเวณบ้านบางพลับตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลซึ่งเป็นแนวผ่านมาจาก นครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์งห์บุรีไปจนถึงเมืองลพบุรีหรือเมืองละโว้เดิม ต่อมากลายเป็นแม่น้ำน้อย ซึ่งมีคลองบางพลับเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา กับ แม่น้ำน้อย เชื่อกันว่าในสมัยสุโขทัยนั้นบ้านบางพลับเป็นชุมชนใหญ่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย เชื่อมกับคลองบางพลับ และ วัดขุนอินทประมูลตั้งอยู่ริมฝั่งคลองนี้

ตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงประวัติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลนี้ไว้ว่า สมัยกรุงสุโขทัยยังรุ่งเรือง ในยุคที่พระยาเลอไทสืบราชสมบัติต่อมาจากพระเจ้ารามคำแหงผู้เป็นบิดา ครั้งนั้นพระยาเลอไทเสด็จจากกรุงสุโขทัย เดินทางโดยชลมารค มานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะ ณ เขาสมอคอน ในเขตกรุงละโว้การเสด็จมาครั้งนั้นมาทางแม่น้ำยมเข้าสู่แม่น้ำปิงแล้วเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแยกแม่น้ำมหาศร (ปัจจุบันเพี้ยนเป็นมหาสอน)เข้ามาเขาสมอคอนอันเป็นที่พำนักของฤาษีผู้เป็นอาจารย์ (ฤาษีตนนี้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้ารามคำแหง ผู้เป็นบิดาด้วย) เมื่อนมัสการฤาษีสุกกะทันตะ แล้ว พักแรมอยู่ ณ เขาสมอคอน ๕ เพลา ได้เสด็จข้าม แม่น้ำเจ้าพระยาล่องมาตามแม่น้ำน้อย โดยผ่านมาตามคลองบางพลับ เพื่อเสด็จประพาส ท้องทุ่ง เนื่องด้วยเวลาที่เสด็จมานั้นเป็นเวลาน้ำเหนือบ่า และได้แวะประทับโดยสร้างพลับพลา ณ โคกบางพลับแห่งนี้

ขณะประทับแรมอยู่ ณโคกบางพลับเวลาสาม เกิดศุภนิมิตรทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นเหนือยอดไม้หายไปในอากาศทางทิศตะวันออก เกิดปิติโสมนัส ดำริสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเป็นพุทธบูชาด้วยคติที่ว่า พระองค์ประทับแรมอยู่ ณ ที่แห่งนี้ โดยมอบหมายให้นายบ้านเกณฑ์แรงงานทั่วแคว้นแดนลุ่มแม่น้ำน้อย ทั้งหมดได้คนพันเศษ ขุดหลุม กว้าง ๒๐๐ วา นำท่อนซุงนับร้อยท่อนลงวางขัดตารางเป็นฐานแล้วขุดบ่อในทุ่งด้านหลังขนดิน ขึ้นถมสูง ๓ วา (ปัจจุบันเป็นสระกว้างอยู่ทางด้านหลังของวัด) ผู้คนอีกส่วนหนึ่งระดมทำอิฐเผา (มีโคกที่เรียกว่า โคกเผาอิฐและตำบลบ้านท่าอิฐ อยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ทองในปัจจุบัน) สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ณ โคกบางพลับแห่งนี้สิ้นเวลานาน ๕ เดือนเป็นแล้วเสร็จ เมื่อเดือน ๕ ปี พ.ศ. ๑๘๗๐ ได้สำเร็จองค์พระพุทธไสยาสน์ยาว ๒๐ วา สูง ๕ วา

เมื่อสร้างพระพุทธไสยาสน์เสร็จแล้ว ขนานนามว่า " พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร " มอบให้นายบ้านผู้ดูแลแต่งตั้งทาสไว้ ๕ คน แล้วเสด็จนิวัติสู่กรุงสุโขทัย เนื่องจากพระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร ถูกทอดทิ้งตากแดดตากฝนท่ามกลางป่ารกอยู่นาน การดูแลรักษาก็ไม่ได้กระทำต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ถูกทิ้งร้างมานานจนกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ กรุงศรีอยุธยามีอำนาจขึ้นมาแทนที่ในระยะเวลาดังกล่าวนี้มีพระภิกษุทรงวิทย (ชื่อตามคำเรียกของชาวบ้านหลังที่มีการสร้างพระพุทธไสยาสน์แล้ว) เป็นที่กระทำวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีกำลังศรัทธาของชาวบ้านสร้างเพิงพักให้เป็นที่จำวัด ต่อเนื่องกันมาเนิ่นนาน

จนถึงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ในครั้งนั้นมีนายอากรตำแหน่งที่ขุนอินทประมูล นายบ้านบางพลับ แขวงเมือง วิเศษไชยชาญ ในอดีตการปกครองครอบคลุม ถึง สิงห์บุรี ชัยนาท) ในประวัติเล่าสืบต่อมา นั้นกล่าวว่า ขุนอินทประมูลนั้นเป็นคนจีนมีชื่อเดิมว่า เส็ง มีภรรยาเป็นคนไทยชื่อนาก ไม่มีบุตรสืบตระกูล เป็นผู้ที่มีจิตใจใฝ่ในการ พระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ปรารภว่าจะพยายามซ่อมสร้างพระพุทธไสยาสน์ และสร้างวัด ณ โคกวัด นี้ให้สำเร็จด้วยอุตสาหะแห่งตนให้จงได้ โดยเริ่มแรกได้นำทรัพย์สินส่วนตัวที่เก็บออมไว้ประมาณ ๑๐๐ ชั่ง ออกมาสร้างวิหารและเจดีย์ขึ้น ณ โคกใหญ่ด้านตะวันออกสำเร็จลง เรียบร้อย ต่อมาเห็นว่าพระพุทธไสยาสน์ทรุดโทรมลงทุกวัน องค์พระแทบพังทั้งหมดทลายลงกองกับพื้นดิน จึงดำริถากถางป่าและซ่อมองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้นใหม่รวมทั้งจัดสร้างหลังคา คลุมองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้น โดยจัดทำเป็นเสาอิฐก่อเครื่องบนเป็นเครื่องไม้หลังคามุงด้วยหญ้าแฝก เป็นเครื่องกันแดดฝน ขยายองค์พระออกไปเป็นความยาว ๒๕ วา สูง ๕ วา ๒ ศอก การซ่อมสร้างพระพุทธไสยาสน์ครั้งนั้นนับเป็นมูลค่าเงินหลายร้อยชั่ง ขุนอินทประมูลนำทรัพย์ส่วนตัวออกมาสร้างจนหมด จึงมีเจตนายักยอกพระราชทรัพย์หลายร้อยชั่งนำมาสร้างต่อจนสำเร็จ แล้วพยายามปกปิดไว้ ไม่ยอมให้ข่าวแพร่งพรายไปถึงพระนครศรีอยุธยาแต่ข่าวก็เล่าลือไปถึง พระยาวิเศษไชชาญ เจ้าแขวงเมืองวิเศษไชยชาญส่งคนมาสอบถามได้ความจริง จึงนำเรื่องขึ้นกราบทูล พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯให้พระยากลาโหมขึ้นมาไต่สวน ขุนอินทประมูลให้การภาคเสธ จึงสั่งให้ราชมัณฑ์ลงฑัณฑ์เฆี่ยน ๓ ยกเพื่อรับเป็นสัตย์ แต่ขุนอินทประมูลไม่ยอมรับสารภาพผิดอ้างว่าเป็นทรัพย์ส่วนตนจัดสร้างทั้งหมด ด้วยเกรงว่าเมื่อรับสารภาพแล้ว ส่วนกุศลทั้งหมดที่สร้างไว้ จะตกแก่พระเจ้าแผ่นดิน ท้ายที่สุดทนการลงทัณฑ์ของราชมัณฑ์ไม่ไหว เมื่อใกล้สิ้นใจได้ขอพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ให้งดโทษ แล้วสารภาพว่าได้ยักยอกพระราชทรัพย์ไปจริง แต่มุ่งสร้างให้เป็นการเสริมพระบารมี ภายหลังขุนอินทประมูลทนรับการลงทัณฑ์ไม่ไหว ถึงแก่ชีวิตเมื่อ วันอังคาร เดือน ๕ พ.ศ. ๒๒๙๖ ประมาณอายุได้ ๘๐ ปีเศษ

พระยากลาโหมกลับไปทูลความให้ทรงทราบ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทราบความตามกราบทูล เสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง เพื่อให้เกิดสมมโนรสทรงโปรดให้ฝังร่างของขุนอินทประมูล ไว้ในเขตพระวิหาร ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ หลังจากทำพิธียกเกศทองคำหนัก ๑๐๐ ชั่ง พระราชทานประดับเหนือเศียรพระพุทธไสยาสน์ พระราชทานนามวัดว่า “ วัดขุนอินทประมูล ” และถวายนามพระพุทธไสยาสน์ว่า “ พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล ”

มีประวัติบอกเล่าตามบันทึกคำให้การชาวกรุง เก่ากล่าวว่าพม่าบุกเข้าปล้นเอาพระเกศทองคำเผาพระวิหารและองค์พระพุทธไสยาสน์เสียหายทั้งหมด เมื่อเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ความในประวัติศาตร์กล่าวสืบเนื่องต่อกันมาเช่นนี้จริงเท็จเป็นประการใดขอยกเว้น




วัดขุนอินทประมูลถูกทอดทิ้งให้ร้างจมอยู่ในป่าโคกวัดนานถึง ๔๐๐ ปีจนล่วงมาสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประวัติสำคัญเกี่ยวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี)วัดระฆังว่าครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๑๐ เมื่อสมเด็จ ฯ เดินทางขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่ที่จะสร้างพระพุทธรูปนั่งพระมหาพุทธพิมพ์ ณ วัดเกศไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ครั้งนั้นเป็นฤดูน้ำหลากสมเด็จ ฯ ให้ชาวบ้านผู้ติดตามแจวเรือลัดทุ่งมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูลและพำนักพักค้างคืนอยู่ ณ บริเวณโคกวัดเป็นเวลา ๑ คืน หลังจากสมเด็จ ฯ กลับไปวัดระฆังได้เข้าเฝ้าถวายพระพรเรื่องพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลให้รัชกาลที่ ๔ ทรงทราบ อันเป็นเหตุให้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ และเมื่อ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ (ร.ศ.๑๒๗) วัดขุนอินทประมูลเริ่มมีการพัฒนาชัดเจน เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๑ ได้มีพระอธิการสร้าง ธีรปัญโญมาครองวัดเป็นเจ้าอาวาสแต่งตั้งองค์แรก ได้ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตวัดออกไปทั้งทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เริ่มสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ กุฏิสงฆ์ กุฏิเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ ฯลฯ





กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดขุนอินทประมูลไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และเริ่มการซ่อมแซมครั้งแรก





เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธไสยาสน์  วัดขุนอินทประมูล ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ และ พ.ศ.๒๕๑๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลนี้ในปี พ.ศ.๒๕๑๙





ปัจจุบันพระครูวิเศษชัยวัฒน์เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส


มาจนถึงตอนนี้ เรามาดูประวัติของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) กันบ้างครับ ว่ามีบางส่วนบางตอนที่กล่าวถึง การที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้เคยมาพำนัก ณ ที่วัดขุนอินทประมูลอยู่เป็นระยะเวลายาวนานช่วงหนึ่ง ลองอ่านกันดูครับ



ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรสี)



จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) คัดมาเฉพาะบางตอนที่สำคัญที่อยากให้รู้ครับ


            ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั้น ครั้นส่งเสด็จแล้ว จึงจัดกองทัพออกติดตามสกัดจับพม่าตีรุกหลังพม่าแตกฉานเป็นหลายทัพ จับได้รี้พลช้างม้าเป็นอันมาก ทั้งตัวเจ้าพระยาจักรีเองก็ยกทัพหนุนไปด้วย จนถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วจัดการพิทักษ์รักษาเมืองโดยกวดขัน ส่วนตัวท่านเจ้าพระยาเองก็ออกขี่ม้าสำรวจตรวจตรากองทัพน้อยๆทั่วไป เพราะใส่ใจต่อหน้าที่ราชการจนพม่าไม่กล้าหาญชิงเอาเมืองเหนือใต้ ต้องหนีออกไปทางด่านชั้นนอก พ้นเขตแดนสยาม กองทัพไทยไล่จับพม่าที่ล้าหลังได้ไว้เป็นกำลังราชการเป็นอันมาก ทัพอะแซหวุ่นกี้ล่าทัพออกพ้นประเทศอาณาเขตสยามในคราวนี้ตามกำหนดมีว่าเดือน ๗ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี

ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร เวลาเช้าวันหนึ่งออกลาดตระเวนกองทัพทั้งปวงเพื่อบัญชาการ และชักม้าวกลัดเพื่อตัดทาง ม้าก็เลยพาท่านเข้าป่าฝ่าพงจำเพาะมายังบ้านปลายนาใต้เมืองกำแพงเพชร เป็นเวลาเย็น จึงแลเห็นโรงหนึ่งตั้งอยู่ปลายทุ่งนา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงได้ชักม้าไปถึงโรงนั้นไม่เห็นมีคนผู้ใหญ่อยู่ได้ เห็นแต่หญิงสาวตนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงบอกแก่นางสาวคนนั้นว่า ข้ากระหายน้ำ เจ้าจงตักน้ำมาให้ข้ากินสักขันเถิด นางสาวคนนั้นจึงวิ่งด่วนเข้าไปในห้อง หยิบได้ขันล้างหน้าใบหนึ่งแล้วจ้วงตักน้ำในหม้อกลั่น แล้วล้วงไปหักดอกบัวหลวงในหนองน้อยข้างโรงนั่นสองสามดอก แล้วฉีกกลีบเด็ดเอาแต่เกสรบัวโรยลงไปในขันน้ำนั้นจนเต็ม แล้วนำส่งให้บนหลังม้า เจ้าคุณทัพรับเอามาเป่าเกสรเพื่อแหวกหาช่องน้ำแล้วต้องเอาริมฝีปากเบื้องบนเม้มเกสรไว้ แล้วดูดดื่มน้ำจนหมดขันด้วยอยากกระหายน้ำ ครั้นดื่มน้ำหมดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจึงถามนางสาวคนนั้นว่า เราอยากกระหายน้ำสู้อุตสาห์บากหน้ามาขอน้ำเจ้ากิน เหตุไฉนจึงแกล้งเราเอาเกสรบัวโรยลงส่งให้เรากินน้ำของเจ้าลำบากนัก เจ้าแกล้งทำเล่นแก่เราหรือ

นางสาวคนนั้นตอบว่า "ดิฉันจะได้คิดแกล้งท่านนั้นก็หาไม่ ที่ดิฉันเอาเกสรบัวโรยลงในขันน้ำให้เต็มนั้น เพราะดิฉันเห็นว่า ผากแดดแผดลมเหนื่อยมา และกระหายน้ำด้วย ก็เพื่อป้องกันเสียซึ่งอันตรายแห่งท่าน เพื่อจะกันสำลักน้ำและสะอึกน้ำ และกันจุกแน่นแห่งท่านผู้ดื่มน้ำของดิฉัน ถ้าท่านไม่มีอันตรายในการดื่มน้ำแล้ว น้ำจะได้ทำประโยชน์แก้กระหายแห่งท่าน ดิฉันจะพลอยได้ประโยชน์เพราะให้น้ำแก่ท่าน ท่านสมปรารถนาแล้วก็จะเป็นบุญแก่ดิฉัน เหตุนี้ดิฉันจึงโรยเกษร" เจ้าคุณแม่ทัพฟังคำนางสาวตอบอย่างไพเราะอ่อนหวาน ถ้อยคำที่ให้การมานั้นก็พอฟัง จึงลงมาจากหลังม้าแล้วถามว่า "ตัวของเจ้าก็เป็นสาวเต็มเนื้อแล้ว มีใครๆมาหมั้นหมายผูกสมัครรักใคร่เจ้าบ้างหรือยัง" นางสาวบอกว่า "ยังไม่เห็นมีใครๆ มารักใคร่หมั้นหมายดิฉัน และดิฉันก็ยังไม่ได้ไปเที่ยวบอกใครว่าเป็นสาว มัวแต่หลบซ่อนตัวอยู่ ด้วยบ้านเมืองเกิดยุ่งนุ่งถุงมานานจนกาลบัดนี้ จึงมิได้มีใครเห็นว่าดิฉันเป็นสาว" เจ้าคุณทัพว่า "ถ้ากระนั้นเราเองเป็นผู้ที่ได้มกเห็นเจ้าเป็นสาวก่อนคน เจ้าต้องยอมตกลงเป็นคู่รักของเรา เราจะต้องเป็นคู่ร่วมรักของเจ้าสืบไป เจ้าจะพร้อมใจยินยอมเป็นคู้รักของเราโดยสุจริตหรือว่าประการใด"

นางสาวตอบว่า "การที่ท่านจะมาเป็นคู่รักของดิฉันนั้น ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งอยู่แล้ว แต่ทว่าการจะมีผัวมีเมียกันตามประเพณีนั้น ดิฉันไม่ทราบเรื่อง จะว่าประการใดแก่ท่านก็ไม่มีอะไรจะว่า เรื่องการผัวการเมียนั้น ท่านต้องเจรจากับผู้ใหญ่ขึงจะทราบการ" เจ้าคุณแม่ทัพถามว่า "ผู้ใหญ่ของเจ้าไปไหน" นางสาวตอบว่า "ไปรดน้ำถั่วจวนจะกลับแล้ว" เจ้าคุณแม่ทัพขยับเดินเข้าให้ใกล้ นางสาวไพล่วิ่งปรู๋ออกแอบที่หลังโรงเลยไม่เข้าหา ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ต้องนั่งเฝ้าโรงคอยท่าบิดามารดาของนางสาวต่อไป จนเกือบตะวันตกดินจวนค่ำ

ฝ่ายตาผล ยายลา กลับมาถึงโรงแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพได้เห็นแล้ว จึงยกมือขึ้นไหว้ตายายก็น้อมตัวก้มลงไหว้ตอบ ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ก้มลงไหว้ให้ต่ำลงไปอีก ตายายก็หมอบลงไปไหว้อีก ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็หมอบไว้อยู่อย่างนั้น ต่างคนต่างหมอยตัวกันอยู่นั่น ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายยายแกเป็นคนปากเร็ว แกนึกขันและประหลาดใจแกจึงเปิดปากถามออกไปก่อนว่า "นี่เป็นขุนนางมาแต่บางน้ำบางกอก เหตุไฉนจึงมาหมอบกราบไหว้ข้าเจ้า เป็นชาวบ้านนอกเป็นชาวทุ่งชาวป่า เป็นคนยากจน ท่านจะมาหมอบไหว้ข้าเจ้าทำไม" เจ้าคุณแม่ทัพบอกว่า "ฉันมาสมัครเข้ามาเป็นลูกเขยท่านทั้งสอง จ้ะข้ะ"

ยายถามว่า "ท่านเห็นดีงามอย่างไร เห็นลูกสาวฉันเป็นอย่างไร ท่านจึงจะมายอมตัวเป็นลูกเขยเล่า" เจ้าคุณแม่ทัพว่า "ฉันเห็นบุตรสาวท่านดีแล้ว พอใจแล้ว จึงเข้ามาอ่อนน้อมยอมตัวเป็นลูกเขยท่าน" ท่านเจ้าคุณแม่ทัพเล่าถึงกาลแรกมาขอน้ำและนางเอาเกสรบัวโรยลงและได้ต่อว่า นางได้โต้ตอบถ้อยคำน่าฟังน่านับถือ จึงทำให้เกิดความรักปราณีขึ้น และตั้งใจจะเลี้ยงดูจริงๆ จึงต้องทนอยู่คอยท่า เพื่อจะแสดงความเคารพและขอเป็นเขย ขอให้แม่พ่อมีเมตตากรุณาเห็นแก่ไมตรีที่ได้มาอ่อนน้อมพูดจาโดยเต็มใจจริงๆ ตามวาจาที่ว่ามานี้ทุกอย่าง "ขอพ่อแม่ได้โปรดอนุญาตยกนางสาวลูกนั้นให้เป็นสิทธิ์แก่ฉันในวันนี้" ยายตาแกร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า "โอตายจริง ข้าเจ้าเป็นคนยากจนข่นแค้นและต่ำศักดิ์ ทั้งผ้าผ่อนที่หลับที่นอนก็เหม็นตืดเหม็นสาบ ทั้งเครื่องเย่าเครื่องเรือนก็ขัดขวาง ทั้งถ้วยชามรามไหทีดีงามก็ไม่มี ฉิบหายป่นปี้แต่ครั้นบ้านเมืองเกิดยุ่งนุงนังหลายครั้งหลายครามาแลตัวนางหนูเล่าก็ยังไม่เป็นภาษา ทั้งจริตกิริยาก็ยังป่าเถื่อน ไม่เหมือนชาวใต้ จะใฝ่สูงเกินศักดิ์เกินสมควรไปละกระมังพ่อคุณ"

เจ้าคุณแม่ทัพว่า "ข้อนั้นพ่อแม่อย่ามีความวิตกหวาดกลัวอะไรเลย ข้อสำคัญก็คือ แม่พ่อยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ฉันเด็ดขาดแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของฉันฝ่ายเดียว ตามที่แม่พ่อยกขึ้นเป็นทางปรารมภ์นั้น เป็นธุระของฉันหมดทุกอย่าง ขอแต่ว่าอย่าเกี่ยงงอนขัดขวางดิฉันเลย"

ยายลา ตาผล ขอทุเลาถามเจ้าตัวว่า "มันอยากมีผัวหรืออย่างไรไม่ทราบ" แล้วก็ออกไปตามหาที่หลังโรง ตายายพูดกับลูกสาว ลูกสาวพูดกับพ่อกับแม่ได้ยินแต่กระจู๋กระจี๋กระเส่าๆ กระซิบกระซาบอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็กลับมา แล้วนั่งลงถามว่า "ในเวลานี้ท่านก็มาแต่ตัวกับม้าตัวหนึ่ง ถ้าหากว่าดิฉันทั้งสองพร้อมใจยกอีงุดลูกสาวฉันให้เป็นเมียท่าน ท่านจะจัดการประการใดแก่ดิฉันเพื่อให้เป็นมงคล จงว่าให้ดิฉันฟังก่อนเถิดเจ้าข้ะ"

เจ้าคุณแม่ทัพถอดแหวนออกจากนิ้วแล้วบอกว่า "แหวนวงนี้มีราคาสูง ถ้าว่าท่านบิดามารดายินยอมพร้อมใจ ยกแม่งุดให้เป็นเมียเป็นสิทธิ์แก่ฉันแล้ว ฉันจะยกแหวนวงนี้ ตีราคาทำสัญญาให้ไว้เป็นสินถ่าย ๒๐ ชั่ง คิดเป็นทุนเป็นค่าของหมั้นขันหมากผ้าไหว้อยู่ใน ๒๐ ชั่ง ทั้งค่าเครื่องเย่าเครื่องเรือนเบี้ยเลี้ยงค่าเลี้ยงค่าดู ค่าเครื่องเส้นวักตั๊กแตนเสร็จในราคา ๒๐ ชั่ง ด้วยแหวนวงนี้" สองตายายได้ฟังดีใจ เต็มใจ พร้อมใจ ตกลงยกลูกสาวให้ตามปรารถนา เจ้าคุณแม่ทัพก็จัดแจงยืมพานปากกระจับทองเหลืองมาแล้วเขียนสัญญาถ่ายแหวน แล้วเอาใบตองรองก้นพานแล้ววางแหวนที่ว่านั้นลงบนใบตองรองในพาน เชิญเข้าไปคุกเข่าส่งให้ตายายๆ ก็ให้ศีลให้พร เป็นต้นว่า ขอให้พ่อมีความเจริญด้วยลาภยศ ให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด แล้วจัดแจงหุงข้าว ต้มแกง พล่ายำ ตำน้ำพริก ต้มผัก เผาปลา เทียบสำรับตามป่าๆ แล้วเชิญให้อาบน้ำทาดินสีพอง ยายตาก็อาบน้ำ ลูกสาวก็อาบน้ำ ตาตักน้ำให้ม้ากิน พาไปเลี้ยงให้กินหญ้า ครั้นเจ้าคุณแม่ทัพอาบน้ำทาดินสีพองแล้ว ลูกสาวทาขมิ้นแล้ว ยายก็ยกสำรับปูเสื่อลำแพน แล้วเอาผ้าขาวม้าปูบนเสื่อลำแพน ยายเชิญเจ้าคุณแม่ทัพให้รับประทานอาหาร

ยายตาก็รับประทานพร้อมกัน นางงุดนั้นให้กินภายหลัง ครั้นรับประทานอาหารแล้วต่างคนนั่งสั่งสนทนากัน ครั้นเวลา ๔ ทุ่ม จึงพาลูกสาวออกมารดนำรดท่า เสร็จแล้วก็ส่งมอบหมายฝากฝังตามธรรมเนียมของชาวเมืองกำแพงเพชรอันเคยทำพิธีมาแต่ก่อน

ส่วนเจ้าคุณแม่ทัพรับตัวแล้ว ก็หลับนอนอยู่ด้วยนางงุดในกระท่อมโรงนาจนรุ่งสางสว่างฟ้าแล้ว ตื่นขึ้นอาบน้ำ รับประทานอาหารแล้วก็ลาตายายขึ้นม้ามาบัญชาการที่กองทัพ พอเวลาค่ำสั่งการเสร็จสรรพแล้ว ห่อเงิน ๒๐ ชั่งมาสู่โรงบ้านปลายนาถ่ายแหวนคืนสัญญาแล้วก็หลับนอน เช้ากลับค่ำไป เป็นนิยมมาดังนี้ แม่ทัพนายกองทั้งปวงจะได้ล่วงรู้และร่ำลือให้อื้อฉาวก็เป็นอันว่าหามิได้ แต่บุตรชายของเจ้าคุณแม่ทัพซึ่งนอนอยู่ในค่ายมีอายุ ๘ ขวบโดยปี จะรู้ก็เข้าใจว่าไปดูแลตรวจตราบัญชาการ แต่เป็นดังนี้นานประมาณเดือนเศษ ตามสังเกตรู้ว่านางงุดตั้งครรภ์ ต่อแต่นั้นก็เพียงแต่ไปมาถามข่าว

ครั้นมีท้องตราหากองทัพกลับ เจ้าคุณแม่ทัพก็ไปล่ำลาและสั่งสอนกำชับกำชาโดยนานับประการ จนนางเข้าใจราชการตลอดรับคำทุกประการ แล้วท่านก็คุมทัพกลับกรุงธนบุรี

ครั้นนางงุดได้แต่งงานแล้ว เมื่อเดือนแปด ปีมะแม สัปตศก แล้วก็ตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ยังอ่อนๆอยู่นั้น นางงุดไปปรึกษาหารือด้วย ตาผล ยายลา ผู้เป็นบิดามารดาว่าจะคิดการขึ้นล่องค้าขายกรุงธนบุรีและเมืองเหนือนั้น ครั้นคนทั้งสามปรึกษาตกลงเห็นชอบพร้อมใจกันแล้ว คนทั้งสามจึงได้รวบรวมเงินต้นทุนที่ได้ไว้ ปันส่วนออกเป็นค่าเรือ ค่าสินค้า ค่ารองสินค้า ค่าจ้างคน ค่าซ่อมแซมอุดยาเรือ มั่นคงเรียบร้อยแล้ว จึงละโรงนานั้นเสีย ส่วนนาและไร่ผักก็ให้เขาเช่าเสียแล้ว พากันลงอยู่ในเรือใหญ่ จัดการซื้อสินค้าบรรทุกเรือนั้นเต็มระวาง

ครั้นถึงกำหนดล่องกรุงธนบุรี จึงเรียกคนแจวออกเรือ ล่องลงมาถึงบ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรีแล้ว เข้าจอดเรืออาศัยท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม เป็นคนเคยอยู่เมืองเหนือแต่ก่อน และนายทองนางเพียนได้ลงมาอยู่บางขุนพรหม ครั้นตาผลจัดการจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงผ่อนสินค้าขายส่งจนหมดลำ จึงจัดซื้อสินค้าบางกอกและสินค้าเมืองปักษ์ใต้ บรรทุกเรือตามระวางแล้ว พอถึงวันกำหนดจึงแจวกลับขึ้นไปปากน้ำโพจำหน่ายในตลาดเมืองเหนือ ตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ขึ้นไป จนถึงเมืองกำแพงเพชร ครั้นคนทั้งสามซื้อและขายหมดเสร็จแล้วก็กลับบรรทุกสินค้าเมืองเหนือ กลับล่องเรือลงมาจอดท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม ค้าขายโดยนิยมดังนี้ ล่วงวันและราตรีมาถึงเก้าเดือน ได้กำไรมากพอแก่การปลูกเรือนแล้ว จึงเหมาช่างไม้ให้ปลูกเป็นเรือนแพสองหลังแฝด มีชานสำหรับผึ่งแดดพร้อมทั้งครัวไฟ บันไดเรือนบันไดน้ำ จำนองที่ดินลงในถิ่นบางขุนพรหมเหนือบ้านนายทอง นางเพียนขึ้นไปสัก ๔ ว่าเศษ เพื่อเหตุจะได้อาศัยคลอดลูกและใช้ผูกพักผ่อนหย่อนสินค้า เห็นเป็นการสะดวกดีที่สุด

ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือนหก ปีวอก อัฏฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) นางงุดปั่นป่วนครรภ์เป็นสำคัญรู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตรโดยฉับไว บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายที่ล่ำสัน หมู่ญาติมิตรก็ได้มาพร้อมกันช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพยาบาล …….


จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จขึ้นไปประทับวัดถมอราย (เปลี่ยนเป็นวัดราชาธิวาส) ภายหลังเสด็จกลับมาประทับ ณ ตำหนักเดิมวัดมหาธาตุ พระมหาโตก็ได้เป็นผู้บอกธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมอีก เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยกันมากขึ้นเพราะมีอัธยาศัยตรงกัน

ในศกนี้ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต ในวันพฤหัสบดีเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ เสด็จขึ้นเถลิงราชย์ได้ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน ศิริพระชนมายุได้ ๕๖ พระพรรษา

ปีนี้พระมหาโตอายุได้ ๔๙ พรรษา ๒๘ พระชนมายุทูลกระหม่อมได้ ๒๑ พระพรรษา

พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงราชย์เปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๓ ในปีนั้น วันนั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เผดียงทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ให้ทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ วัน ก็ทรงแปลได้หมด แล้วให้พระมหาโตแปลแก้รำคาญหูเสียบ้าง ท่านเข้าแปลถวาย วันหนึ่งแปลไปได้สักลานกว่า ผู้กำกับการสอบถือพัดยศเข้ามา ท่านก็เลยม้วนหนังสือ ถวายกราบลามาข้างนอกพระราชวัง ใครถามว่า "ได้แล้วหรือขอรับ คุณมหา" ท่านรับคำว่า "ได้แล้วจ้ะ"

ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ไม่สำราญพระหฤทัยในวัดมหาธาตุ จึงทรงกลับมาประทับ ณ พระตำหนักเดิม วัดถมอราย

ในศกนี้ พระมหาโตมีอายุ ๕๔ ปี พรรษา ๓๒ ยังรอรักอยู่วัดมหาธาตุ มีผู้บอกข่าวว่าโยมผู้หญิงอยู่ทางเหนือป่วยหนัก ท่านขี่เรือเสาขึ้นไป พร้อมนำเรือสีไปด้วย เพื่อจะพายอวดโยมของท่าน แต่โยมก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน ท่านก็ทำฌาปนกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงแบ่งทรัพย์มรดกของโยมแก่บรรดาญาติและหลานๆ ทั่วกัน แล้วที่ยังเหลือเป็นเงินทองก็นำมาถึงอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ณ ที่วัดขุนอินทร์ประมูล ท่านก็เอาทรัพย์นั้นออกสร้างพระนอนไว้ มีลักษณะงดงามองค์หนึ่งยาวมาก สร้างอยู่หลายปีจึงสำเร็จ ต่อนั้นท่านก็เป็นพระสงบ มีจิตแน่วแน่ต่อญาณคติ มีวิถีจิตแน่วแน่ไปในโลกกุตรภูมิ ไม่ฟุ้งซ่านโอ่อ่า เจียมตัวเจียมตน เทศน์ได้ปัจจัยมาสร้างพระนอนนั้นจนหมด ท่านทำซอมซ่อเงียบๆ สงบปากเสียงมา ๒๕ ปี ตลอดรัชสมัยของแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงปีกุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ ปี วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เวลาค่ำ ๘ ทุ่ม ๕ บาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต ศิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พระมหาโต อายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อม พระราชาคณะ วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์ พระมหาโตเลยออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ครั้นทรงระลึกได้ จึงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่งว่า "ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้" จึงรับสั่งพระญาณโพธิออกติดตามก็ไม่พบ รับสั่งว่า "ฉันจะตามเอง" ครั้นถึงเดือนเจ็ดปีนั้น มีกระแสร์รับสั่งถึงเจ้าเมือง ฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหามหาโต เลยสนุกกันใหญ่ ทั้งฝ่ายพุทธจักร อาณาจักร แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ฝ่ายพระร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งยังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ เห็นเป็นพระองค์อื่น ปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้ พระอาจารย์เจ้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป)

ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า นายด่าน นายตำบล เจ้าเมือง กรรมการ จับพระไปอดเช้าบ้าง เพลบ้าง ตากแดดตากฝน ได้รับความลำบาก ทำทุกข์ทำยากแก่พระสงฆ์คงไม่ดีแน่ จึงแสดงตนให้กำนันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังศาลากลาง เจ้าเมืองมีใบบอกมายังกระทรวงธรรมการ บอกส่งไปวัดโพธิเชตุพนฯ พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จำได้ แล้วคุมตัวลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทรท่ามกลางขุนนางข้าราชการ ครั้นเห็นพระญาณโพธินำพระมหาโตเข้าเฝ้า จึงมีพระดำรัสว่า "เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน" แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการี วางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลิปัตแฉกหักทองขวาง ด้ามงา เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร

เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเอง ถึงบางขุนพรหมและบางลำภู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วง และพระยาโหราธิบดีเก่า และผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้า ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตรและบริขาร ไปบอกพระวัดระฆังว่า "จ้าวชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังนี่จ้ะ" ท่านแบกตาละปัตพัดแฉก สพายถุงย่ามสัญญาบัตร ไปเก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขัน จะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี้ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นมาเยี่ยม คนนั้นก็มาดู เลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมในในยศศักดิ์บ้าง ท่านทำขบขันมาก ดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว

ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระปรเมนทร์มหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้ประพฤติคุณงามความดี ดำรงตบะเดชะชื่อเสียงกระเดื่องเฟื่องฟุ้งมาในราชสำนักก็หลายประการ ในสงฆ์สำนักก็หลายประการ จนท่านมีคนนับถือลือชาปรากฏ ตลอดสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ เวลายาม ๑ กับ ๑ บาท สิริพระชนม์ ๖๔ เสวยราชสมบัติได้ ๑๗ ปี กับ ๖ เดือน ๑๔ วัน อายุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ ๘๑ ปี รับตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้ ๔ ปี สิ้นรัชกาลที่ ๔ นี้

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงราไชยสุริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์ครอบครองสยามรัฐอาณาจักร ในเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ วันพุธ ปีมะโรง ศกนั้น พึ่งเจริญพระชนมายุได้ ๑๕ ปี ๗ เดือน ๙ วัน

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไม่ติดในยศศักดิ์ได้ปฏิเสธเรื่อยมาจนกระทั่งไม่สามารถหลีกได้จึงจำใจยอมรับ

- เป็นพระธรรมกิตติ สถาปนาพร้อมกับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด พ.ศ.2395 ขณะอายุ 65 ปี

- เป็นพระเทพกวี เมื่อปีขาล พ.ศ. 2397

- เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สถาปนาในคราวสมเด็จพระพุฒาจารย์(สน) วัดสระเกศมรณภาพลง ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พ.ศ.2407 นับเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในปีที่ 5 แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ได้ไปดูงานก่อสร้างพระโต วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหารปัจจุบัน) ได้มรณภาพที่บนศาลาการเปรียญวัดบางขุนพรหมใน ด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 ตรงกับ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช 1234 เวลา 24.00 น. คิดทดหักเดือนตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม จึงเป็นสิริอายุรวม 84 ปี พรรษา 64

             จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดขุนอินทประมูลอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร สร้างพระนอนองค์ใหญ่ไว้องค์หนึ่ง ส่วนจะสร้างพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูลหรือไม่นั้น ไม่มีหลักฐานอื่นกล่าวถึงไว้แต่อย่างใด จึงขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท่านเอง ว่าจะเชื่อข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ อยู่ในพิจารณญาณของแต่ละคนครับ ใครเชื่อก็เช่าบูชาไปเป็นศิริมงคลกับตัวเอง หรือใครไม่เชื่อก็เฉย ๆ ไว้ เก็บเป็นข้อมูลความรู้ อย่าไปกล่าวโจมตีให้ร้ายทำลายกันเลยครับ 

 
บอยบางบอน